วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554
คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์)ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี 2554 จำนวน 83 เล่มแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอหนังสือรวมเรื่องสั้น 7 เล่ม ดังมีรายชื่อซึ่งเรียงตามลำดับตัวอักษรของชื่อเรื่องต่อไปนี้ ให้คณะกรรมการตัดสินพิจารณาในวาระต่อไป และ เป็นที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งที่หนังสือจัดจำหน่ายของศูนย์หนังสือจุฬาฯ เรื่อง กระดูกของความลวง ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ได้เข้ารอบเป็น 1 ใน 7 เล่มสุดท้ายของรางวัล วรรณกรรมสร้างสรรค์ ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2554 จากจำนวนทั้งหมด 83 เล่ม
สำหรับ 7 เล่มที่ได้รับการคัดเลือกมีดังนี้
1. 24 เรื่องสั้นของฟ้า ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์
2. เรื่องของเรื่องของ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์
3. แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟของ จเด็จ กำจรเดช
4. กระดูกของความลวงของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ( หนังสือจัดจำหน่ายของศูนย์หนังสือจุฬาฯ )
5. นิมิตต์วิกาล ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์
6. บันไดกระจกของ วัฒน์ ยวงแก้ว
7. ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิตของ จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพรวมของเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2554
คณะกรรมการคัดเลือกได้ร่วมกันสรุปภาพรวมของเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปี 2554 ดังนี้
เรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดมีเนื้อหาหลากหลาย ปัญหาของสังคมยังเป็นวัตถุดิบที่ทรงพลัง นักเขียนให้ความสนใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างของคนในสังคม การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยตามกระแสทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์และสังคมเสมือน ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยเฉพาะในด้านความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม อย่าง ไรก็ตาม การเสนอปัญหาของท้องถิ่นยังมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
นักเขียนมุ่งเสนอภาพในมุมมองที่ขยายวงมากกว่าเดิม กล่าวคือ นอกจากจะชี้ให้เห็นว่าชนบทเป็นผู้ถูกกระทำจากภายนอกอย่างไม่มีทางเลือกแล้ว ในบางกรณี ปัญหาของมนุษย์ก็เกิดจากคนที่อยู่ในชุมชนนั้นเอง ส่วนเนื้อหาที่มุ่งเสนอเรื่องราวของวิถีชีวิตสมัยใหม่ นักเขียนแสดงให้เห็นถึงความสับสนความแปรปรวนของชีวิต ภาวะของความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนลงไป ท่าทีในการแสดงออกต่อปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาในชนบทและวิถีชีวิตสมัยใหม่ มีทั้งการเสียดสียั่วล้อเพื่อกระตุกให้ผู้อ่านย้อนกลับมาหยั่งถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีนักเขียนที่แสดงความห่วงใยต่อสังคม และมีทั้งการเผชิญหน้าด้วยการตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคมผ่าน “โลกภายใน” ของตัวละคร และน้ำเสียงของนักเขียน อย่างไรก็ตามนักเขียนมีแนวโน้มขยายเรื่องราวของตนผ่านการข้ามพรมแดนไปสู่โลกที่กว้างใหญ่ขึ้น ทั้งพรมแดนในด้านชาติพันธุ์ พรมแดนด้านรัฐชาติ พรมแดนด้านเพศ และพรมแดนด้านการเล่าเรื่อง
เมื่อพิจารณาในด้านกลวิธีการนำเสนอแล้ว พบว่านักเขียนส่วนหนึ่งยังคงนำเสนอเรื่องสั้นตามขนบ แบบที่นิยมกันมาเป็นเวลานาน ดังระบุไว้ในทฤษฎีการประพันธ์เรื่องสั้น หากแต่ภายใต้โครงสร้างดังกล่าวนักเขียนได้สร้างความเข้มข้นและความซับซ้อนของเนื้อหาด้วยมุมมองหลากหลาย แม้ว่าปัญหาหลายอย่างที่เสนอในเรื่องสั้นจะเป็นภาพที่หยุดนิ่ง ไม่ต่างจากเรื่องสั้นก่อนหน้านี้ แต่ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าปรากฏการณ์ของสังคมที่ถาโถมใส่มนุษย์มีความยิ่งใหญ่เกินกว่าจะรับมือและต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงได้
ส่วนการนำเสนออีกรูปแบบหนึ่งนั้นนักเขียนได้พยายามทดลองนำเสนอเรื่องสั้นของตนด้วยกลวิธีต่างๆ โดยพยายามสร้างสรรค์แบบอย่างเฉพาะตนขึ้น เป็นการสร้างอัตลักษณ์การเขียนเรื่องสั้นของตนขึ้นมา ลักษณะดังกล่าวเป็นการสร้างสีสันใหม่ๆ ให้แก่วงการประพันธ์เรื่องสั้นของไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มของการเขียนเรื่องสั้นไทยในอนาคต กลวิธีการเขียนเรื่องสั้นที่เน้นอัตลักษณ์เฉพาะตนชวนให้ตื่นตาตื่นใจปลุกเร้าให้ขบคิดตีความ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพของเรื่องสั้นโดยรวมแล้ว พบว่าประพันธศิลป์เชิงสร้างสรรค์ทั้งด้านเนื้อหาและการนำเสนอนั้นยังอยู่ระหว่างการแสวงหาลักษณะเฉพาะของยุคสมัยที่โน้มนำให้เชื่อว่ายังมีเส้นทางข้างหน้าอีกยาวไกล
By : http://www.chulabook.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น