วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเภทของหนังสือ

ความสนใจของมวลชนที่มีต่อหนังสือได้มีมากขึ้นไปตามความเจริญของสังคมและบ้านเมือง จนมีคำกล่าวกันว่าหนังสือเป็นเครื่องวัดความเจริญของสังคมอย่างหนึ่ง ความสนใจได้แตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวาง และสนใจในรายละเอียดลึกลงไปในแต่ละแขนง ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และทำให้เกิดหนังสือประเภทต่าง ๆ ขึ้นมาก แต่ละประเภทมีกลุ่มบุคคลที่สนใจแตกต่างกันไป ลักษณะการใช้งาน อายุการใช้งานก็แตกต่างกันไปด้วย วิธีการผลิตหนังสือแต่ละประเภทและวัสดุที่ใช้ผลิตก็ต้องแตกต่างกันออกไป ผู้ผลิตจะต้องหาวิธีการผลิตให้เหมาะสมกับหนังสือแต่ละประเภท การแบ่งประเภทของหนังสือมีวิธีแบ่งได้หลายอย่าง แต่เพื่อให้เห็นลักษณะการผลิตและรูปเล่มได้เด่นชัด หนังสืออาจแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ วารสาร (Periodical) และหนังสือเล่ม (book) วารสาร (Periodical) เป็นหนังสือที่มีชื่อหนังสือคงที่ จัดพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตามลำดับเรื่อยไป เช่น หนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกวันจะมีชื่อหนังสือชื่อเดียวกันตลอด ได้แก่ สยามรัฐ ไทยรัฐ เดลินิวส์ หรือหนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกระยะเวลาต่าง ๆ มีชื่อหนังสือเหมือนกัน เช่น สตรีสาร วิทยาจารย์ หลักไท หนังสือเหล่านี้เป็นวารสาร หนังสือประเภทวารสารยังอาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้เป็นหนังสือพิมพ์ (newspaper) นิตยสาร (magazine)







หนังสือพิมพ์ (newspaper) เป็นหนังสือที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ข่าวสารปัจจุบันแก่ผู้อ่าน ส่วนนิตยสารนั้นมุ่งที่จะให้ความรู้ความบันเทิงเป็นสิ่งสำคัญ การที่วัตถุประสงค์ในการจัดทำแตกต่างกัน ลักษณะและการใช้งานของหนังสือและลักษณะรูปร่างของหนังสือจึงย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์นั้นพิมพ์บนกระดาษแผ่นใหญ่เรียงซ้อนกัน พับเป็นเล่มโดยไม่เย็บเล่มและไม่มีปก ส่วนนิตยสารนั้นมักมีปกที่พิมพ์สีสันสวยงาม เย็บเป็นเล่มและเจียนเล่มเรียบร้อย ขนาดของเล่มเล็กกว่าหนังสือพิมพ์ การที่หนังสือประเภทใดจะมีรูปเล่มและขนาดอย่างใดย่อมแล้วแต่ลักษณะและวัตถุประสงค์การใช้งานของหนังสือเล่มนั้น ๆ เป็นสำคัญ รูปเล่มและขนาดเล่มจะเป็นตัวกำหนดเครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเชื่อมโยงกันไปทั้งสิ้น
นิตยสาร (magazine) สำหรับนิตยสารนั้น ผู้ซื้อจะมีความพิถีพิถันมากกว่าซื้อหนังสือพิมพ์ นิตยสารจึงมีปกที่พิมพ์ภาพสวยงาม อายุการใช้งานมีระยะเวลานานกว่าหนังสือพิมพ์ซึ่งจะมีอายุอย่างน้อยเท่ากับระยะเวลาออกนิตยสารนั้น ๆ นิตยสารจึงยังคงคุณค่านานกว่าหนังสือพิมพ์ แม้เมื่อพ้นเวลาใช้งานแล้วก็ยังพอมีราคาอยู่บ้าง


หนังสือเล่ม (book)
เป็นประเภทใหญ่ของหนังสืออีกประเภทหนึ่ง อาจ แบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้หลายวิธี คือแบ่งตามลักษณะของผู้อ่าน เช่น หนังสือเด็ก หนังสือผู้ใหญ่หรือแบ่งตามเนื้อหาสาระ เช่น หนังสือสารคดี หนังสือบันเทิงคดี ซึ่งแต่ละประเภทแบ่งย่อยออกไปได้อีก เช่น สารคดี อาจแบ่งเป็นแบบเรียนในระดับการศึกษาต่าง ๆ คู่มือครู แบบฝึกหัดตำราทางวิชาการ หนังสืออ้างอิง บันเทิงคดีก็แบ่งเป็น นวนิยาย กวีนิพนธ์ หนังสือเด็กก็อาจแยกออกเป็น หนังสือภาพ หนังสือการ์ตูน นิยาย หนังสือแต่ละประเภทก็มีลักษณะรูปเล่มเฉพาะที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของหนังสือประเภทนั้น ๆ การผลิตหนังสือแต่ละประเภทจึงมีวิธีการและอุปกรณ์ที่เหมาะสมแก่การผลิตหนังสือประเภทนั้น ๆ ซึ่งก็ย่อมแตกต่างกันออกไปแต่ละประเภท
หนังสืออ้างอิง เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษอีกแบบหนึ่งที่ผู้อ่านจะเลือกอ่านค้นคว้าเอาเฉพาะเรื่องที่ต้องการ เช่น หนังสือพจนานุกรมจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง ผู้ซื้อจะค้นดูศัพท์เฉพาะคำที่ต้องการทราบความหมายโดยจะเปิดดูหน้าและตำแหน่งตรงที่มีศัพท์ที่ต้องการจะค้น แล้วอ่านดูว่ามีคำแปลว่าอย่างใด เข้าใจแล้วก็ปิดเล่ม หนังสือเล่มหนึ่ง ๆ ได้อ่านจริง ๆ ไม่กี่บรรทัดไม่กี่หน้า หากเป็นพจนานุกรมฉบับกระเป๋าก็จะต้องผลิตให้มีขนาดเล็กสามารถพกติดตัวไปได้สะดวก สามารถค้นดูศัพท์ได้ทุกเวลาที่ต้องการ ขนาดของเล่มหนังสือจะเป็นสิ่งกำหนดตัวพิมพ์ ความหนาของแผ่นกระดาษและชนิดของกระดาษที่จะพิมพ์ เพื่อให้หนังสือมีขนาดพอเหมาะที่จะบรรจุศัพท์ต่าง ๆ ลงในเล่มให้ครอบคลุมได้กว้างขวางที่ต้องการ และให้ได้ขนาดกว้างยาวและหนาพอที่จะพกในกระเป๋าเสื้อของผู้อ่านได้




ไม่มีความคิดเห็น: